เส้นทางทุเรียน หมอนทอง กับข้าวหอมมะลิ ผกาลำดวน
1 min read
นับถอยหลังอีกเพียงไม่กี่วันจะเข้าสู่ฤดูผลไม้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ ทุเรียน ไม้ผลที่สร้างรายได้จากการส่งออกมูลค่านับแสนล้านบาท
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไทยกำลังมีคู่แข่งในการส่งออกทุเรียน “ผลสด” เข้าไปตลาดหลัก “จีน” หลังจากต้นเดือนมกราคม 2566 รัฐบาลจีนอนุญาตให้ “ฟิลิปปินส์” ส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้เป็นประเทศที่ 3 จากที่ปีก่อนจีนอนุญาตให้ “เวียดนาม” ส่งทุเรียนสดเข้าไปขายได้
ขณะเดียวกัน อีก 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา กำลังวิ่งเต้นให้รัฐบาลจีนอนุญาตส่งทุเรียนผลสดเข้าไปขายได้ โดยแต่ละประเทศขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างมหาศาล
ผู้ส่งออก และหน่วยราชการของไทยบางคนบอกว่า ถึงจะมีคู่แข่ง แต่ทุเรียนสายพันธุ์ “หมอนทอง” ของไทยคือ The Best สุดยอด ! ที่คนจีนต้องการ หากสามารถควบคุมคุณภาพให้ดี ! ตลาดจีนยังเปิดกว้างอีกหลายมณฑล
แต่อย่าลืมว่า โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว !
ตัวอย่างรูปธรรมบนเวทีประกวด “ข้าว” ที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ผลการตัดสิน ข้าวหอมมะลิ “ผกาลำดวน” ของกัมพูชา ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลก ด้วยกลิ่นที่หอมมากกว่า “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทยเมื่อนำไปหุง
ทำให้ “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทย ซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวโลกถึง 2 ปีซ้อนในปี 2563 และ 2564 ต้องพ่ายให้กับประเทศ“กัมพูชา” ไป แม้ตัวคุณภาพข้าวและรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน ส่วนอันดับ 3 เป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับ 4 ข้าวหอมมะลิจาก สปป.ลาว
ดังนั้น การที่ประเทศเพื่อนบ้านจะพยายามปรับปรุงสายพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ ให้ขึ้นมาใกล้เคียงกับสายพันธุ์หมอนทองคิดว่าไม่น่าไกลเกินเอื้อม !
แถมประเทศเหล่านั้นยังมีความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเวียดนาม ต้นทุนการเพาะปลูกถูกกว่า อยู่ติดชายแดนจีน ต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่า สามารถตัดทุเรียนผลสดที่ “แก่จัด” ซึ่งมีรสชาติอร่อยเข้าสู่ตลาดจีน
ข่าวที่น่าสนใจ : ร้านกะเพราสู้ชีวิตของน้องทีน